วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

มหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก

เมื่อพูดถึงมหาวิทยาลัยระดับโลกก็น่าจะหมายถึงมหาวิทยาลัยในตะวันตกซึ่งเป็นแม่แบบของเรา เช่น ฮาร์วาร์ด พริ้นตัน เยล ของอเมริกา เคมบริดจ์ ออกซฟอร์ด ของอังกฤษ มหาวิทยาลัยปารีส หรือ ซอร์บอน ของฝรั่งเศส

แต่ถ้าถามว่ามหาวิทยาลัยอะไรเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกซึ่งเป็นที่ยอมรับกัน หลายคนอาจจะมองย้อนกลับไปที่สมัยกรีกโบราณ เมื่อเพลโตตั้งอะคาดีมี (Academy of Athens) ตั้งแต่ประมาณ 387 B.C. แต่จริงๆ แล้วอะคาดีมีของเพลโตไม่ได้ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก แต่ก็ถือว่าเป็นต้นตอที่มาของมหาวิทยาลัยในตะวันตก

มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกนั้น คือมหาวิทยาลัยซาเลอโน (Salerno) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ในประเทศอิตาลี มหาวิทยาลัยซาเลอโนซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกเกิดขึ้นได้อย่างไรและทำไมถึงเกิดขึ้นได้

ในสมัยนั้นทางโลกตะวันตกถือว่า สถาบันจะเป็นมหาวิทยาลัยได้จะต้องสอนหนึ่งในสามวิชาซึ่งเรียกเป็นภาษาลาตินว่า สเตอดิอุม เยนเนอราล (Studium Generale) เป็นพื้นฐานของมหาวิทยาลัย วิชาพื้นฐาน 3 วิชา หรือ สเตอดิอุม เยนเนอราล นี้ก็คือ
  • วิชาแพทยศาสตร์ ถามต่อไปว่าทำไม เหตุผลก็คือ เพราะแพทยศาสตร์เป็นวิชาที่รักษาร่างกาย และสิ่งที่มนุษย์ต้องการก็คือ การให้ร่างกายดำรงอยู่ นี่คืออันที่หนึ่ง
  • วิชานิติศาสตร์ หลังจากที่มนุษย์สามารถรักษาตนเองได้แล้ว สิ่งที่ต้องการต่อไปก็คือ วิชาที่จะรักษาโรคในสังคม อยู่ในสังคมให้ได้ และในสมัยนั้นการที่จะรักษาโรคในสังคมก็คือจะต้องเรียนวิชากฏหมาย
  • วิชาเทววิทยา วิชานี้อารเปรียบเทียบได้ว่าเป็นวิชาพุทธศาสนาของทางตะวันตก คือวิชาที่รักษาตัวเองให้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ได้ เตรียมตัวจากโลกนี้ไปอยู่โลกหน้า
หลักสเตอดิอุม เยนเนอราลก็คือ หลักสากลเป็นวิชาเรียนซึ่งไม่จำกัดเพียงชาติใดชาติหนึ่ง เป็นวิชาความเป็นความตายของตัวเราเอง คือการแพทย์ สอนการรักษาร่างกายให้อยู่ได้ ความเป็นความตายของสังคม ก็คือนิติศาสตร์ สอนการรักษาโรคในสังคม และความเป็นความตายที่เกี่ยวกับโลกนี้และโลกหน้า คือเทววิทยา สอนการรักษาให้มนุษย์ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ได้ และในสมัยนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องสอน 1 ใน 3 วิชานี้ถึงจะเป็นมหาวิทยาลัย และในตอนนั้นมหาวิทยาลัยซาเลอโนก็เริ่มจากการสอนวิชาแพทยศาสตร์ก่อนเป็นวิชาหลัก และก็มีชื่อเสียงมากในประเทศอิตาลี เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่ยอมรับกันว่ามหาวิทยาลัยซาเลอโนคือมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก


นอกจากนี้ ถ้าดูจากภาษาอังกฤษ คำว่า University ก็คือคำเดียวกับ Universal ที่แปลว่า สากล และก็มาจากคำภาษาลาตินว่า Universita ซึ่งหมายความว่า เป็นการรวมกัน 

ดังนั้นพัฒนาการของความคิดที่จะเป็นมหาวิทยาลัย ก็คือ Universal กับ Universita กลายมาเป็นคำว่า University ซึ่งก็หมายถึง การรวมการสอนวิชา 3 วิชาที่เป็นสากล นั่นคือวิชาที่เกียวกับตัวมนุษย์ เกี่ยวกับสังคมมนุษย์และเกี่ยวกับโลกนี้โลกหน้าของมนุษย์ ซึ่งก็คือ หลักสเตอดิอุม เยนเนอราล (Studium Generale) ในภาษาลาติน และก็เป็นคำเดียวกับ General Study หรือการศึกษาทั่วไป ในภาษาอังกฤษนั่นเอง 

ที่นี้หันกลับมามองที่ประเทศไทย ความคิดเกี่ยวกับการตั้งมหาวิทยาลัยของเรา ก็ได้มาจากแนวคิด สเตอดิอุม เยนเนอราล เริ่มจาก รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัย ตั้งแต่ ร.ศ. 112 หลังจากนั้นเริ่มโรงเรียนราชแพทยาลัย เริ่มโรงเรียนกฎหมาย ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่านี่เป็นสเตอดิอุม เยนเนอราล คือ มหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นวิชาเทววิทยาฝ่ายพุทธ ราชแพทยาลัยเป็นการศึกษาแบบการแพทย์ โรงเรียนกฎหมาย ก็คือการสอนนิติศาสตร์ รวมทั้งสามเข้าแล้วก็เป็นความติด สเตอดิอุม เยนเนอราล แพทยศาสตร์ นิติศาสตร์ และเทววิทยา (ในกรณีของเราเป็นพุทธศาสตร์) 

หลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต ในสมัยที่ยังเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองอยู่ก็น่าจะมาจากแนวคิด สเตอริอุม เยนเนอราล เช่นกัน เพราะอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ นอกจากจะรู้เรื่องสังคมตะวันตกดีแล้ว ยังเข้าใจสังคมไทยดีเป็นพิเศษอีกด้วย จึงนำแนวคิด สเตอดิอุม เยนเนอราล มาปรับให้เข้ากับสภาพของสังคมไทยในตอนนั้นจนเป็น หลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต 

และสำหรับอาจารย์ปรีดีแล้ว หัวใจจริงๆของหลักสูตรก็คือ ธรรมศาสตร์ คือการว่าด้วยสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ยุติธรรม และสิ่งที่เป็นสากล ซึ่งก็คือการกลับไปหา Universal, Universita กลายมาเป็น University นั่นเอง 

เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ผ่านการเรียนมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่ว่าจะเรียนสาขาใด เช่น วิชาแพทยศาสตร์ นิติศาสตร์ เทววิทยา ถ้าไม่เข้าใจหรือลืมคอนเซ็ปต์ของคำว่ามหาวิทยาลัย (University) ที่ว่าด้วยการศึกษาถึงสิ่งที่เป็นสากล สิ่งที่ถูกต้อง และสิ่งที่ยุติธรรม ก็คล้ายกับว่าชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัยออกจะดูเป้นการสูญเปล่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Présentation